วิดีโอในยูทูปทำให้นักปิงปองมือใหม่เลียนแบบท่าทางของแชมป์โดยไม่รู้เลยว่า กว่าเขาจะเล่นได้แบบที่เห็นนั้นต้องผ่านการฝึกฝนมามากเหลือเกิน ถ้าเราเอาแต่ฝึกข้ามขั้นก็จะได้แต่เปลือกเท่านั้น ท่าทางแมัจะดูเหมือนแต่อานุภาพกลับด้อยกว่า ดังนั้นเบสิคหรือพื้นฐานที่ดีจึงเป็นขั้นตอนที่ห้ามมองข้ามอย่างเด็ดขาด
วิดีโอของนักปิงปองสาวชาวเกาหลีที่นำมาแนะนำนี้ สร้างขึ้นมาอย่างดีมาก ขอให้สังเกตกำแพงที่เป็นเส้นฉากหลังไว้ด้วยว่าตัวนักปิงปองมีอาการส่ายไปมาขึ้นลงอย่างไรบ้าง เปรียบเทียบแต่ละขั้นว่ามีการขยับตัวขยับแขนมากน้อยต่างกัน
https://www.youtube.com/channel/UCbY2IZvpW8pxHcCFDWfwC1w
1 ท่าเตรียมพร้อม https://youtu.be/HszbKMS46GI
2 Backhand Drive https://youtu.be/NgX7UIfNKRI
3 การขยับเท้า ขยับตัว https://youtu.be/CVesptAgp3w
4 Backhand Push https://youtu.be/xwkbNEzCeVU
5 Backhand / Forehand Push https://youtu.be/K0D4Y5fhdG8
6 Forehand Drive https://youtu.be/Fv_aK5eTVFw
7 Forehand Drive https://youtu.be/f4GzBbEjtnE
8 Backhand Drive https://youtu.be/AXDUR8OGQ6E
9 Forehand Topspin https://youtu.be/vaMLFpFuE3k
10 Forehand Topspin https://youtu.be/KhKim2iCKR8
11 Backhand Topspin https://youtu.be/78fHcgZi_2o
12 Forehand Loop https://youtu.be/BC5ueZ2Rfso
13 Block https://youtu.be/0s74uWG50Lc
Serve
1 https://youtu.be/ezMyuwetN-A
2 https://youtu.be/WY3D0QxpriE
3 https://youtu.be/AqQDc9r4YDc
Footwork
1 https://youtu.be/K92kt4HRxjo
นักปิงปองที่หวังจะมีอาชีพเป็นโค้ช ควรหาทางสร้างเว็บทำวิดีโอให้ได้ดีแบบนี้ ไม่งั้นแล้วจะกลายเป็นว่าอาชีพโค้ชที่สอนได้แต่แบบเดิมที่จะสาบสูญไปตามยุค IGen ซึ่งผู้ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาดัดแปลงประยุกต์ใช้ได้เท่านั้นที่จะอยู่รอด
ตามปกติท่าตีแบ็คแฮนด์ ในขณะที่เหวี่ยงแขนจากซ้ายไปขวา เราถูกสอนกันมาว่าให้ถ่ายน้ำหนักจากเท้าซ้ายมาเท้าขวา โดยจุดที่ไม้กระทบลูกปิงปองอยู่ค่อนไปทางซ้ายของลำตัว แต่ถ้าตำแหน่งที่ยืนตั้งท่ารับลูกนั้นค่อนออกไปทางซ้ายมือของโต๊ะอยู่แล้วล่ะ ลูกที่ส่งมาหาเราแทบไม่มีทางที่จะอยู่ทางซ้ายของลำตัวได้เลย ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณกลางตัวหรือค่อนออกมาทางขวานิดๆเสียด้วยซ้ำ หากเป็นแบบนี้แล้วยังจำเป็นต้องถ่ายน้ำหนักจากขาซ้ายมาขวาอยู่อีกหรือ
จากภาพนี้สังเกตว่า จุดที่ไม้กระทบลูกอยู่กลางตัว แทนที่จะใช้วิธีถ่ายน้ำหนักจากเท้าซ้ายมาขวาหรือขวามาซ้าย Ma Long ใช้วิธีพับเอวลงตรงๆเพื่อย่อขาท่อนบนแล้วดีดตัวขึ้นมาจากเท้าทั้งสองข้างพร้อมกันเพื่อส่งแรง (แต่ไม่ได้ย่อขาท่อนล่างลงไปจากเดิม)
ส่วนมุมท่อนแขนตรงข้อศอกในจังหวะอัดแรงดูเหมือนเป็นมุมฉากไว้ตลอดเวลา โดยจะเหวี่ยงหัวไหล่ให้ข้อศอกมาขนานกับลำตัวตรงเอวด้านขวา ช่วงนี้หน้าไม้ปิงปองจะถูกอัดเข้าหาพุงเพื่ออัดแรง จากนั้นพอดีดตัวขึ้นก็จะเหวี่ยงแขนท่อนบนตามออกไปด้านหน้า ตามด้วยแขนท่อนล่างที่จะเหวี่ยงขึ้นมาเพียงเล็กน้อยแล้วยืดแขนออกไปข้างหน้า สุดท้ายข้อมือจึงสะบัดออกไปตามแรงโมเมนตัมที่ส่งออกมา โดยจังหวะที่ไม้กระทบลูกจะเป็นช่วงที่ไม้เคลื่อนที่เร็วที่สุดพอดีและมีทิศทางที่กดหน้าไม้ลง (ไม่ได้เหวี่ยงขึ้นอีก) จึงทำให้ส่งลูกออกไปได้แรงและเร็วมาก
ในจังหวะอัดแรง ให้ใช้กล้ามเนื้อของหัวไหล่ดึงข้อศอกกลับมาไว้ด้านข้างลำตัว ทำให้มีระยะทางให้อัดแรงได้มากขึ้นกว่าการวางข้อศอกไว้หน้าลำตัว พอปล่อยแรงก็ดันข้อศอกออกไปตรงๆ คล้ายกับท่าตีศอกเสยขึ้นของมวยไทย
ถ้าอยากจะเลียนแบบท่านี้หรือท่าอื่นใดก็ตามของนักปิงปองจีน อย่าลืมว่า Ma Long สูง 175 ซม ดังนั้นท่าของเขาที่เห็นว่าเหวี่ยงไม้ลงไปที่พุงนั้น ระดับของไม้ยังไงๆก็ยังไม่ได้ต่ำกว่าระดับโต๊ะ ถ้าคนตัวเตี้ยกว่านี้ต้องอย่าเหวี่ยงไม้ลงไปต่ำนัก ท่าทางอาจจะทำได้เหมือนแต่อานุภาพห่างคนละชั้นกันเพราะความสูงนี่เอง
เวลาเหวี่ยงแขนตีปิงปองรู้สึกตัวไหมว่า ตัวท่อนแขนมีน้ำหนัก
ถ้าเหวี่ยงแขนโดยไม่รู้สึกถึงน้ำหนักของแขนล่ะก้อ นั่นแสดงว่าคุณใช้แรงที่มาจากการเหวี่ยงแขนอย่างเดียว แม้จะดูเหมือนตีได้แรงก็ตามแต่ถือว่าได้แรงไม่สมกับที่พยายามออกแรงเหวี่ยงออกไป อนาคตจะปวดที่ด้านนอกของข้อศอกเป็นโรคที่เรียกว่า Tennis Elbow ถ้าปวดด้านในเรียกว่า Golfer's Elbow เล่นปิงปองได้แค่ไม่กี่นาทีแล้วเหนื่อยมากๆเพราะเอาแต่ออกแรงเหวี่ยงแขนนี่แหละ
วิธีเหวี่ยงแขนตีลูกที่จะทำให้ได้แรงสมกับที่ออกแรงนั้น มีหลักการง่ายๆว่า ต้องอย่าเหวี่ยงแขนก่อนการหมุนตัว โดยเริ่มหมุนลำตัวเพื่อถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังมาที่สะโพก จากสะโพกมาที่ไหล่ พอไหล่ขยับไปข้างหน้าแล้วจะรู้สึกว่ากำลังลากแขนตามไป (Pulling Force) ซึ่งจะรู้สึกถึงน้ำหนักของท่อนแขนในจังหวะนี้เอง พอแขนขยับไปเองจากการหมุนของลำตัวแล้วจึงออกแรงเหวี่ยงแขนเสริมเข้าไป
เพื่อให้เกิดการถ่ายเทโมเมนตัมจากลำตัวมาสู่ท่อนแขนโดยไม่เกิดการสูญเสีย ให้ยืดแขนไว้ตลอดในช่วงที่เหวี่ยงแขน จากนั้นในจังหวะก่อนที่ไม้จะกระทบลูกให้งอแขนเพื่อลดรัศมีของวงเหวี่ยง ซึ่งเมื่อรัศมีของวงเหวี่ยงลดลงจะส่งผลทำให้ไม้เคลื่อนที่เร็วขึ้นมาก
พอเหวี่ยงไม้ส่งแรงกระทบลูกปิงปองออกไปแล้ว อย่าเหวี่ยงแขนกลับมาในวงเดิมที่เหวี่ยงแขนออกไป แต่ให้หุบแขนเข้าหาลำตัวเพื่อลดรัศมีลงจะทำให้หมุนลำตัวเพื่ออัดแรงได้เร็วกว่ามาก พอหุบแขนเข้าหาลำตัวแล้วจึงบิดสะโพกไปข้างหลังเพื่ออัดแรง ต่อมาจึงปล่อยไม้ที่แนบลำตัวลงไปข้างหลังพร้อมกับถ่ายน้ำหนักกลับมาที่เท้าหลังเพื่อรอการตีในลูกถัดไป
หลักการของ Pulling Force นี้ยังประยุกต์ใช้ได้กับข้อมือด้วย เวลาเหวี่ยงแขนต้องรู้สึกถึงน้ำหนักของไม้ ถ้าไม่รู้สึกเลยนั่นแสดงว่ากำด้ามไม้แน่นเกินไป
ปัญหายอดนิยม ...
แหม กำลังตีโฟร์แฮนด์ทางขวาอยู่ดีๆ คู่ต่อสู้ดันส่งลูกมาทางซ้าย เดี๋ยวขวา เดี๋ยวซ้าย ซ้ายๆขวาๆ จะตีแบ็คแฮนด์ทันได้ยังไง
ไม่ใช่แค่ซ้ายขวาเท่านั้นหรอก เดี๋ยวยาว เดี๋ยวสั้น ถูกหยอดอีกแล้ว นึกว่าจะได้ตีลูกท้อปด้วยโฟร์แฮนด์สักหน่อย อ้าแขนเตรียมจะเหวี่ยงไม้ไว้อยู่แล้ว เสียจังหวะหมดเลย
ลองเอาปัญหานี้ไปถามโค้ชครูฝึกของคุณดูว่าจะตอบยังไง แต่อย่าตอบเชียวนะว่า ต้องฝึกเยอะจนกว่าจะคล่อง ตอบเลี่ยงๆแบบนี้ใช้แก้ได้กับทุกปัญหาแต่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
ถ้าเป็นนักปิงปองมือใหม่ก็มักจะเหวี่ยงแขนกลับมาในวงสวิงเดียวกันกับวงที่สวิงเหวี่ยงแขนออกไป หากตั้งท่าจะตีแต่โฟร์แฮนด์แบบนี้ก็ต้องวิ่งขยับตัวไปทั่วโต๊ะเพื่อตีแต่โฟร์แฮนด์ให้ได้ทุกลูก ทิ้งโอกาสที่จะยืนตำแหน่งเดิมแล้วใช้แบ็คแฮนด์ตีสวนกลับไปบ้าง
เรามาหาคำตอบจากภาพวงเหวี่ยงแขนนี้กัน
ดูภาพที่ 5 ตรงกลางให้ดี เห็นไหมว่าเมื่อเหวี่ยงแขนตีลูกปิงปองออกไปแล้ว เขาฝึกวงสวิงที่ย้อนกลับมามีจังหวะหยุด น้ำหนักตัวทิ้งลงที่เท้าเท่าๆกันเพื่อรักษาสมดุล ตั้งท่าเตรียมพร้อมไว้เสมอ นอกจากนั้นสายตายังต้องคอยอ่านท่าตีของคู่ต่อสู้ว่าเขาจะตีกลับมาทางใดเพื่อคาดการณ์ไว้ก่อน
จากคำอธิบายในตอนที่ 1
เพื่อให้เกิดการถ่ายเทโมเมนตัมจากลำตัวมาสู่ท่อนแขนโดยไม่เกิดการสูญเสีย ให้ยืดแขนไว้ตลอดในช่วงที่เหวี่ยงแขน จากนั้นในจังหวะก่อนที่ไม้จะกระทบลูกให้งอแขนเพื่อลดรัศมีของวงเหวี่ยง ซึ่งเมื่อรัศมีของวงเหวี่ยงลดลงจะส่งผลทำให้ไม้เคลื่อนที่เร็วขึ้นมาก
เคยสงสัยหรือไม่ว่า เวลาเหวี่ยงแขนในจังหวะอัดแรง จะเหยียดแขนหรือยืดแขนแค่ไหนดี จะต้องยืดแขนจนสุด จนมองเห็นแขนท่อนบนกับแขนท่อนล่างเป็นเส้นตรงเลยไหม
ห้ามเหยียดแขนจนสุดอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อต้นแขนต้องเสียพลังอย่างมากในการฉุดแขนท่อนล่างขึ้นมา
จากภาพนี้สังเกตให้ดีว่า ในจังหวะอัดแรงที่เหวี่ยงแขนไปข้างหลังนั้น แขนไม่ได้เหยียดจนสุด แต่จะรักษามุมตรงข้อศอกระหว่างแขนท่อนบนกับท่อนล่างไว้แทบจะคงเดิมตลอด ส่วนที่เห็นแขนเคลื่อนไปด้านหลังลำตัวมากๆนั้นเกิดจากการใช้สะบักหัวไหล่อัดแรงไปด้านหลังต่างหาก พลังที่ได้จากการออกแรงจากสะบักหัวไหล่จะมากกว่าแรงจากการเหวี่งแขนหลายเท่านัก (Explosive Power)
จากทั้ง 2 ภาพนี้ ในจังหวะอัดแรงเขาจะเก็บข้อศอกให้ติดลำตัว เพื่อลดรัศมีลง จะช่วยทำให้หมุนตัวได้เร็วขึ้น ส่วนแขนซ้ายที่ไม่ได้ใช้ตีจะยกไว้ตลอดและรักษาระดับเดิมไว้เพื่อช่วยรักษาสมดุล
แนะนำให้อ่าน SPECIAL: ZHANG JIKE — THE KEY TO HIS SUCCESS
วิธีการฝึกซ้อมของจีนที่ทำให้นักกีฬาปิงปองของเขาเก่งขึ้น ไม่ได้เกิดจากการฝึกซ้อมที่ให้นักปิงปองเก่งๆจับคู่มาฝึกตีลูกกลับไปกลับมาอย่างที่เราฝึกกันแต่เพียงอย่างเดียว นักปิงปองแต่ละคนของเขาจะมีคู้ฝึกซ้อมพิเศษของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคู่ฝึกซ้อมที่สามารถแก้จุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง รู้จักการส่งลูกยากๆหลายๆแบบให้ได้ฝึกซ้อมกัน
สมัยเด็กๆตอนที่ผมเริ่มเรียนปิงปองกับครูจันทร์ ชูสัตยานนท์ บ่อยครั้งทีเดียวที่ท่านจะมาเป็นครูฝึกซ้อมให้ตัวต่อตัว แม้ท่าทางตีปิงปองของท่านจะไม่สวย ไม่สามารถเหวี่ยงแขนทำท่าทางแบบที่นักปิงปองวัยรุ่นทำกันได้เพราะวัยของท่านมากแล้วก็ตาม แต่ทุกลูกที่ครูจันทร์ส่งมาให้ล้วนมีคุณค่า คอยจี้ให้เห็นจุดอ่อน และสอนวิธีแก้ไขให้อยู่เสมอ
คู่ซ้อมพิเศษไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง ควรหาเพื่อนที่ยินดีจะมาเป็นคนป้อนลูกให้ คนหนึ่งเก่งลูกโยนสูง อีกคนเก่งลูกตัดเป็นมือรับ อีกคนหนึ่งเป็นมือที่เล่นยางแปลกๆพิสดาร ที่สำคัญคือคู่ซ้อมทุกคนล้วนมีเจตนาดี ช่วยหาทางส่งลูกกลับมาให้ได้ฝึกแต่ละท่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ได้มุ่งหวังแต่ว่าตัวเขาเองต้องเก่งกว่า หรือตีเอาแต่ใจเขาเอง
ส่วนสาเหตุที่ต้องฝึกซ้อมตีลูกท่าเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคนดูสงสัยว่า "ไม่เบื่อหรือไง" ไม่ใช่แค่เพื่อตีลูกไปจนกระทั่งสามารถควบคุมทิศทางหรือส่งลูกไปลงยังตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำเท่านั้น แต่ต้องฝึกจนกระทั่งเป็น Muscle Memory
เคยเห็นพระเอกการ์ตูนที่เป็นกลาสีเรือชื่อป้อปอายกันบ้างไหม พอถึงเวลาคับขันต้องการพลังพิเศษมาช่วยเหลือใครต่อใครก็จะเปิดกระป๋องทานผักขม แขนท่อนล่างจะขยายใหญ่ขึ้นมาทันที กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของป้อปอาย
ตามปกตินั้นการตีแบ็คแฮนด์จะได้แรงจากการสะบัดมือน้อยมากเพราะกล้ามเนื้อที่ช่วยในการสะบัดข้อมือไม่มีแรงเท่ากับกล้ามเนื้อจากแขนท่อนบนและหัวไหล่ จึงแนะนำว่าสำหรับนักปิงปองมือใหม่ไม่ควรฝึกตีแบ็คแฮนด์โดยมุ่งใช้แรงจากการสะบัดข้อมือเป็นหลัก แต่ให้ข้อมือสะบัดเข้าแล้วออกไปเองตามแรงเหวี่ยงแขน
ถ้าใครมีกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้เพื่อสะบัดข้อมืออ่อนแรง แล้วโดนตบอัดเข้ามาแรงๆ จะไม่สามารถโต้แบ็ดแฮนด์แรงๆกลับไป หรืออาจทำให้ข้อมือรับแรงไม่ไหวจนบาดเจ็บขึ้นมาก็ได้
คนที่อยากฝึกตีแบ็คแฮนด์ให้มีพลังเหมือนกับ Ma Long, Fan Zhendong, หรือ Harimoto ท่าทางที่เลียนแบบได้เหมือนยังต้องอาศัยท่อนแขนล่างที่มีกล้ามเนื้อแบบป้อปอายด้วย โดยเฉพาะ Harimoto ที่ยังเป็นเด็กก็ยังฝึกฝนตัวเองจนมีกล้ามเนื้อที่แขนท่อนล่างเป็นมัด กลายเป็นอาวุธที่ใช้เอาชนะ Ma Long ทำให้หลงทางรับลูกไม่ถูกทิศไปเลย
https://breakingmuscle.com/fitness/7-exercises-to-maximize-hand-wrist-and-forearm-strength
ส่วนวิธีการสร้างเสริมกล้ามเนื้อแขนท่อนล่างให้มีพลังแบบป้อปอาย นอกจากหมั่นทานผักขมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีท่าออกกำลังอีกด้วยตามวิดีโอนี้
https://youtu.be/CLjtSyuE11I - ตอนที่ 1
https://youtu.be/eXfBnivGMxM - ตอนที่ 2
https://youtu.be/ngUPvfQJVW0 - ตอนที่ 3
ท่าตีปิงปองมักถูกแบ่งออกเป็น 5 จังหวะ เริ่มจาก จังหวะเตรียมพร้อม (ready stance) จังหวะอัดแรง (back swing) จังหวะปล่อยแรง (forward swing / forward movement) จังหวะไม้กระทบลูก (impact / strike) และจังหวะตาม (follow through) โดยเฉพาะจังหวะตามหรือ follow through นั้น นักปิงปองมือใหม่มักไม่ยอมทำเพราะกลัวว่าจะตีลูกต่อไปไม่ทัน โดยหารู้ไม่ว่าเมื่อทิ้งน้ำหนักมาเท้าหน้าแล้วจะช่วยให้มีแรงดีดกลับมาเพื่อตีลูกต่อไปได้เร็วขึ้น อีกทั้งเมื่อเหวี่ยงไม้ตามไปข้างหน้าจะช่วยทำให้ตีลูกได้แม่นยำขึ้นและท่าทางการเคลื่อนไหวจะนุ่มนวลมากขึ้น
นอกจากการถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าหลังแล้ว เคยสงสัยกันไหมว่า พอปล่อยแรงเหวี่ยงแขนตีออกไปแล้ว จะเหวี่ยงแขนย้อนกลับมาเพื่อตีลูกต่อไปด้วยท่าใด ใช้วงแบบใด ส่วนมากมักเห็นนักปิงปองใช้ท่าเดียวกับการเหวี่ยงแขนออกไป เหวี่ยงแขนไปข้างหน้าแบบใดก็จะเหวี่ยงแขนกลับมาโดยใช้วงเหวี่ยงในวงเดิม
จังหวะที่ 6 ที่ลืมนึกถึงกันก็คือ จังหวะย้อนกลับมาสู่เตรียมพร้อม (recovery) มาดูวิดีโอของ Koki Niwa ว่าเขาใช้วงเหวี่ยงแบบที่ว่านี้หรือไม่
คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
ดูกันดีๆจะเห็นว่าเขา-ไม่ได้-เหวี่ยงไม้กลับมาในวงเดียงกันกับวงที่เหวี่ยงออกไป แต่จะลากไม้กลับเข้าหาลำตัวเพื่อลดรัศมีของแขนลงก่อน กลายเป็นท่าเตรียมพร้อมสำหรับตีลูกถัดไป พร้อมที่จะตีต่อไม่ว่าลูกจะส่งกลับมาตามทิศทางเดิมหรือไม่ เรื่องนี้เคยนำเสนอวงของ Wang Liqin แชมป์โลกหลายสมัยให้ดูกันแล้วว่าใช้วงเหวี่ยงกลับมาแบบเดียวกับ Koki Niwa เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำแนะนำให้เหวี่ยงไปกลับในวงเดิมก็ได้ตามวิดีโอนี้ แต่ลองนึกกันเองว่า หากลูกปิงปองไม่ได้ย้อนกลับมาในทิศทางเดิมจะทำอย่างไรต่อ
แทนที่จะใช้วงเหวี่ยงแบบตามใจชอบ ควรเรียนรู้ถึงสาเหตุกันดีกว่า เชิญศึกษารายละเอียดได้จาก https://www.tabletennistip.com/pinpong-players/training/148-back-swing
ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนครับ เพื่ออ่านเคล็ดลับนี้
หากหลับตาแล้วฟังเสียงนักปิงปองที่ผ่านการฝึกเบสิคมาอย่างดีซ้อมตีลูกกันไปมา เสียงที่ลูกปิงปองกระทบไม้จะเพราะเหลือเกิน เสียงที่ไพเราะก้องกังวานนั่นแสดงว่า นอกจากตีลูกโดนจุดกลางไม้ที่เรียกว่า Sweet Spot แล้ว ลูกปิงปองที่วิ่งมากระทบไม้จะอยู่บนหน้าไม้ในระยะเวลานานอย่างพอเหมาะ ซึ่งเรียกว่า Dwell Time ลูกปิงปองจะกระเด้งออกจากไม้ไปโดยใช้ประสิทธิภาพของเนื้อยางและเนื้อไม้อย่างมีคุณภาพเต็มที่ พอลืมตาขึ้นมองดูก็ยังพบว่า เขาตีลูกปิงปองกันไปมา ลงปลายโต๊ะใกล้เส้นหลัง และลงตำแหน่งเดิมแทบทุกลูก ส่วนตัวนักปิงปองก็ดูเหมือนขยับตัวเหวี่ยงแขนเพียงเล็กน้อย แต่สามารถส่งลูกออกไปได้แรงทีเดียว
ถ้าคุณอยากทำได้แบบที่ว่านี้ เริ่มต้นต้องฝึกเดาะลูกปิงปองกันจนกว่าลูกปิงปองจะกระเด้งขึ้นไปได้ตรงๆ ไม้ไม่ส่ายไปส่ายมา ไม่ต้องเลื่อนไม้ตามไปซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่ต้องขยับตัวตามลูกไปเรื่อยๆ ฝึกไปฟังเสียงไปด้วยว่าได้ยินเสียงลูกกระทบไม้หรือว่าได้ยินแต่เสียงไม้กระทบลูก รู้สึกถึงแรงของลูกที่ตกลงมาบนหน้าไม้แล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่ารู้แค่ว่าออกแรงเดาะลูกขึ้นไป
พอฝึกเดาะลูกคล่องแล้ว ค่อยๆเพิ่มความสูงของลูกขึ้นไปเรื่อยๆ จากนั้นลองเดาะลูกไปมากับเพื่อน เริ่มจากยืนใกล้กันแล้วห่างออกไปเรื่อยๆ พอฝึกเสร็จให้ดูรอยฝุ่นบนหน้ายางว่าอยู่ตรงกลางหน้าไม้หรือไม่
พอลงสนามฝึกตีโต้กันไปมา อย่าเพิ่งรีบร้อนเล่นลูกหมุนหรือตีเร็วหรือแรงใส่กัน ควรมุ่งฝึกท่าทางการขยับตัวและแขนให้ได้จังหวะที่ดีก่อน มุ่งส่งลูกให้แม่นยำทุกลูก ซึ่งในจังหวะที่ไม้กระทบลูกนั้น แม้วงสวิงจะเป็นวงโค้งก็ตาม ถ้ามองภาพจากด้านบนลงมา หน้าไม้ต้องตั้งฉากกับทิศทางที่จะส่งลูกออกไป และในจังหวะที่ลูกอยู่บนไม้ให้เคลื่อนไม้เป็นเส้นตรงระยะทางสั้นๆตามไปด้วย
ความแม่นยำยังขึ้นกับอีกหลายอย่าง การตั้งท่ามั่นคงหรือไม่ หน้าไม้นิ่งในจังหวะที่ไม้กระทบลูกหรือไม่ วงเหวี่ยงยิ่งลดรัศมีลงจะยิ่งช่วยทำให้แม่นยำมากขึ้น และสำคัญที่สุดต้องมีความตั้งใจที่จะตีไปยังเป้าหมายที่ต้องการ
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
https://www.tabletennistip.com/pinpong-players/training/221-precision-vs-accuracy
เคยสงสัยไหมว่าทำไมนักกีฬาชั้นนำจึงสามารถตีเข้าเป้าได้อย่างแม่นยำทุกลูก ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล เทนนิส หรือปิงปอง ตัวนักกีฬาเองมักตอบว่าเพราะตัวเองฝึกฝนมามาก แต่ทำไมคนอื่นที่ฝึกแล้วฝึกอีก ทำอย่างไรก็ยังไม่แม่นอยู่ดี จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์เชิญนักกีฬามือหนึ่งมาทดสอบวิธีที่เขามองลูกบอลนั่นแหละ จึงพบว่าเขาเหล่านี้ใช้วิธีหนึ่งที่เหมือนกันอย่างไม่รู้ตัว นั่นคือการใช้ Quiet Eye นั่นเอง
ตามปกติเราถูกสอนให้มองลูกปิงปองตลอดเวลาใช่ไหม ถ้าใครสอนแบบนี้ต้องถามกลับไปว่า ถ้าเอาแต่มองลูกปิงปองแล้วไม่ต้องมองคู่ต่อสู้บ้างหรือยังไง ถ้ามองลูกปิงปองบ้าง มองคู่ต่อสู้บ้าง ส่วนโต๊ะปิงปองล่ะต้องมองด้วยไหม
ที่ถูกต้องนั้น การมองลูกปิงปองให้มองในช่วงที่คู่ต่อสู้ตีลูกออกมาหาเรา ส่วนตอนที่เราตีลูกออกไปจากไม้แล้วเราไม่ต้องมองที่ลูกปิงปองต่อไปอีก แต่ให้มองที่คู่ต่อสู้แทนว่าเขาจะตีโต้กลับมาอย่างไร ขอให้อ่านรายละเอียดได้จากบทความเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างศีรษะ ตา และมือ
ส่วน Quiet Eye ที่ว่านี้คือตอนที่ไม้กระทบลูก ให้คงสายตาจ้องไว้ที่ตำแหน่งเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่งแม้ลูกจะกระเด้งออกจากไม้ปิงปองไปแล้วก็ตาม อย่าเคลื่อนการมองไปที่อื่น
นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า ก่อนที่จะตีลูกให้มองไปที่เป้าหมายตำแหน่งบนโต๊ะที่จะตีลูกปิงปองไปลงไว้ก่อน จากนั้นให้ย้ายการมองกลับมาที่ลูกที่กำลังลอยมาหา พอตีลูกออกไปแล้วก็ไม่ต้องมองตามลูกออกไป แต่ให้มองค้างไว้ที่ตำแหน่งเดิมไว้สักระยะหนึ่งก่อนที่จะหันไปมองคู่ต่อสู้
การที่เหลือบมองเป้าหมายไว้ก่อนเท่ากับว่า เราไม่ได้ตีกลับไปแบบมั่ว แต่เป็นการตั้งใจว่าจะตีไปที่ตำแหน่งนั้น จากนั้นพอมองตามไว้ที่ลูก และคงตำแหน่งการมองไว้ที่เดิมแม้จะตีลูกออกไปจากไม้ไปแล้วก็ตาม เท่ากับการกำหนดจิตให้มีสมาธิ ไม่สนใจเรื่องอื่นใดอีกนอกจากลูกปิงปอง สมองของเราจะจัดการประมวลคำสั่งให้ตีลูกออกไปยังเป้าหมายให้เอง
หลายคนยังสับสนระหว่างท่าเตรียมพร้อมกับท่าตี FH ว่าควรจะวางเท้าอย่างไรดี
ท่าเตรียมพร้อมอาจวางเท้าขนานกับขอบหลังของโต๊ะหรือจะวางเท้าขวาห่างจากขอบโต๊ะมากกว่าเท้าซ้ายเพื่อเตรียมตี FH
ขอให้สังเกตภาพเหล่านี้เพื่อดูว่า ในการตี FH เขาวางเท้าขวาไว้หลังเท้าซ้ายกันมากน้อยขนาดไหน แปรตามระยะใกล้ไกล กับทิศทางที่ต้องการตีอย่างไร
อย่าดูแค่เทียบแนววางเท้ากับแนวขอบโต๊ะนะครับ
ควรวางเท้าขวาไว้หลังเท้าซ้ายเพื่อช่วยในการถ่ายน้ำหนักส่งแรงเข้าหาลูก ตามทิศทางที่ต้องการส่งลูกออกไปได้เต็มที่
ท่าวางเท้าแบบ Forest Gump จะทำให้กระดูกสันหลังรับภาระในการรับแรงที่ส่งไปแล้วดึงกลับมาตีลูกต่อไปอย่างมาก อนาคตต้องปวดหลังแน่นอน
“ทำเพื่อชาติ” คำนี้หลายคนต้องนึกถึงทหาร แต่ถ้านำไปค้นหาจากอากู๋ (google) กลับพบว่าเป็นคำที่ใช้ในหมู่นักการเมืองกับนักกีฬาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักกีฬาทีมชาติเวลาถูกสัมภาษณ์ออกข่าวทางทีวีก็จะเห็นประโยคที่พูดให้คนไทยได้ยินกันเสมอว่า “จะแข่งขันให้ดีที่สุดเพื่อชื่อเสียงของประเทศไทย” นักปิงปองบางคนถึงกับถือว่าการเล่นปิงปองเป็นการทำหน้าที่เหมือนเป็นงานอย่างหนึ่งทีเดียว
อย่าว่าแต่นักกีฬาเลย ใครก็ตามที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศ มักมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ ได้ค่าเบี้ยเลี้ยง ได้ออกข่าว ถือเป็นโอกาสที่น้อยคนนักจะได้รับ เด็กที่ได้เที่ยวด้วยแถมได้ค่าขนมด้วยก็พากันติดใจ ไม่อยากจะสูญเสียโอกาสดีแบบนี้จึงพยายามที่จะเป็นตัวแทนของประเทศต่อไปให้นานที่สุด โดยลืมนึกไปว่าเมื่อถึงเวลาก็ต้องอำลาการทำเพื่อชาติแล้วนะ
รุ่นพี่อดีตนักปิงปองทีมชาติหลายคนเล่าให้ฟังว่า เขาเองพอถึงเวลาต้องทำงานก็ต้องทำงาน ต้องหยุดเล่นปิงปองไปเลย จึงทำให้สามารถมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเช่นทุกวันนี้ ส่วนคนที่เล่นด้วยทำงานไปด้วยมักไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานมากนัก เว้นแต่เขามีกิจการของครอบครัวของเขาเองอยู่แล้วก็ไม่ว่ากัน
ในการเข้าทำงานนั้น หัวหน้างานเขาอาจพูดทำนองว่า “ตามสบายนะ เชิญเล่นปิงปองต่อไปได้เลย จะได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ” แต่ไม่มีหัวหน้างานคนไหนหรอกที่จะเห็นว่าการเล่นปิงปองสำคัญกว่างานที่ต้องรับผิดชอบอยู่ หัวหน้างานจะแอบดูว่า ลูกน้องของตนคนนี้ เขาคิดเองเป็นหรือไม่ เขาต้องรู้ตัวเองว่า เมื่อทำงานก็ต้องทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ ถ้าคิดไม่เป็นเอาแต่เล่นปิงปองต่อไป ลางานไปแข่งบ้าง ออกก่อนเวลาไปฝึกซ้อมบ้าง ลูกน้องแบบนี้มีหัวหน้าที่ไหนบ้างจะอยากได้
ถ้ายังอยากจับปลาสองมือ เล่นไปด้วย ทำงานไปด้วย ในที่สุดก็จะแพ้วัยสังขารของตัวเอง พออายุมากขึ้นเล่นปิงปองไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน งานก็ไม่ก้าวหน้าเหมือนกับคนรุ่นเดียวกันเสียอีก
คุณเคยได้ยินคำสอนที่ว่า ให้เหวี่ยงไม้ตีลูก forehand พอกระทบลูกแล้วให้วงไม้ที่เหวี่ยงหยุดอยู่แค่ปลายคิ้วขวา เพราะถ้าเหวี่ยงไปไกลเกินกว่านี้จะย้อนกลับมาตีลูกถัดไปไม่ทัน นักปิงปองหน้าใหม่ฟังแล้วก็เลยใช้แต่แขนเหวี่ยงไม้ในการตีลูกปิงปอง พอกลับมาบ้านก็จะปวดเมื่อยแขนไปหมด อย่าว่าแต่นักปิงปองหน้าใหม่เลย แม้แต่คนที่ตีปิงปองมานานสามารถตีได้แรงและแม่นยำแล้วก็ตาม มีน้อยคนนักที่จะตีปิงปองได้แรงโดยออกแรงไม่ต้องมากก็ได้แรงแล้ว ทั้งนี้ต้องรู้จักการไล่ลำดับของการปล่อยแรง (momentum) ให้ถูกต้อง
ถ้าซูโม่ตัวใหญ่ปะทะกับซูโม่ตัวเล็กกว่า ซูโม่ตัวเล็กจะกระเด็นไปไกลเลยใช่ไหม
คุณเคยนั่งรถที่เบรคกะทันหันแล้วตัวคุณเองจะโยกไปข้างหน้าแม้รถจะหยุดแล้วใช่ไหม
คุณเคยใช้ไขควงขันน้อตบ้างไหม ถ้าใช้ไขควงด้ามยาวๆจะไขได้ง่ายกว่าด้ามสั้นใช่ไหม
คุณเคยเห็นนักเสก็ตน้ำแข็งที่หมุนตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆเมื่อหดแขนและขาเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นใช่ไหม
คุณเคยเห็นคนที่ใช้แซ่หวดปลายแซ่สะบัดบนอากาศเสียงดังเปรี้ยะบ้างไหม
ถ้าปล่อยให้ข้อมือไม่เกร็งแล้วเหวี่ยงแขน จะเห็นข้อมือสะบัดตามไปเองใช่หรือไม่ หรือยืนหมุนตัวโดยปล่อยแขนตามสบาย จะเห็นแขนเหวี่ยงออกไปเองใช่ไหม
หากต้องการใช้แรงให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดโดยออกแรงน้อยที่สุด ต้องรู้จักการไล่รีดแรงออกมาจากอวัยวะขนาดใหญ่ไปสู่อวัยวะส่วนย่อยที่มีมวลน้อยกว่า สมมติว่ากำลังจะตี forehand และได้อัดแรงทิ้งน้ำหนักไว้ที่ขาขวาและบิดสะโพกและเอวตามเข็มนาฬิกาอัดแรงไว้แล้ว ในการปล่อยแรงให้ไล่รีดแรงตามลำดับต่อไปนี้
- เริ่มต้นการถ่ายน้ำหนักจากขาขวาเพียงเล็กน้อย เมื่อลำตัวขยับจะทำให้สะโพกเริ่มขยับ
- ขยับสะโพกตามโดยหมุนสะโพกทวนเข็มนาฬิกาก่อน จะทำให้ลำตัวบนขยับตามไปเอง
- พอลำตัวบนเริ่มขยับ ให้ออกแรงหมุนลำตัวบน จะทำให้ท่อนแขนส่วนบนเริ่มขยับ
- พอท่อนแขนส่วนบนเริ่มขยับ ให้ออกแรงเหวี่ยงท่อนแขนส่วนบนเล็กน้อย จะทำให้ท่อนแขนส่วนล่างเริ่มขยับตาม
- พอท่อนแขนด้านล่างขยับ ให้เหวี่ยงแขนท่อนล่างโดยใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลาง แขนท่อนล่างจะขยับเร็วมาก
- พอแขนท่อนล่างขยับ หากลดรัศมีของวงเหวี่ยงลงทุกส่วน จะพบว่าแขนเหวี่ยงได้เร็วขึ้นมาก เหมาะสำหรับใช้ปั่นลูกให้หมุนมากๆ แต่ความแรงลูกที่ได้จะลดลง(ภาพนี้เป็นการตีเทนนิสที่มีหลักการเดียวกัน)
- ในจังหวะที่แขนเหวี่ยงเร็วที่สุดนั้น ให้สะบัดข้อมือตามออกไป
- ถ่ายน้ำหนักจากขาขวามาขาซ้ายเต็มที่ ไม้กระทบลูกในจังหวะที่ไม้เหวี่ยงเร็วที่สุด
จะตีลูกได้แรงเต็มที่ต่อเมื่อในจังหวะที่ไม้กระทบลูกนั้น เคลื่อนโถมน้ำหนักตัวจากสะโพกขวาไปซ้ายพร้อมกันไป และเมื่อลำตัวเริ่มหันหน้าเข้าหาโต๊ะให้หยุดการหมุนของลำตัวเพื่อใช้แรงสะบัดจากหัวไหล่และแขน - ทิ้งน้ำหนักแบบหมุนตัวไปตามวงเหวี่ยง อย่าถ่ายน้ำหนักไปไกลจนจุดศูนย์กลางของน้ำหนักตัว (Center of Gravity) เสียสมดุล
- ลำตัวกลับมาสู่สภาพเตรียมพร้อมในการตีลูกต่อไป
แรงรวมจะมากที่สุดต่อเมื่อจัดลำดับการส่งต่อของแรงให้ได้จังหวะที่อวัยวะก่อนหน้านั้นเกิดแรงสูงที่สุด ตามภาพต่อไปนี้
เปรียบเทียบการเหวี่ยงแขนตามวิดีโอต่อไปนี้ นักปิงปองจีนใช้วงสวิงเหวี่ยงแขนกว้างแต่ใช้ข้อมือน้อย ส่วนนักปิงปองฝรั่งร่างกายมีมวลมาก ใช้วงสวิงแคบกว่าเพื่อช่วยให้ขยับตัวได้เร็วและใช้ข้อมือมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีแรงจากอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เคยจะคิดใช้กัน นั่นคือการพลิกท่อนแขนจากหงายเป็นคว่ำ และถ้าใช้วงเหวี่ยงแขนให้ไม้ลงจากที่สูงมาต่ำตามแรงดึงดูดของโลก จะมีแรงเสริมเข้ามาอีก
บทความแนะนำ
THE KINETIC CHAIN IN TENNIS : DO YOU PUSH OR PULL?
นักปิงปองไทยยุคนี้แทบทุกคนมีรูปแบบการตีเหมือนกัน ชอบฝึกตี topspin กันไปมาหรือไม่ก็ topspin ไปให้บล้อคกลับมา แต่น้อยคนนักที่จะรู้วิธี topspin เพื่อโต้กลับลูกที่ส่งมาแบบ backspin เพราะไม่ยอมฝึก push เพื่อส่งลูกแบบ backspin หนักบ้างเบาบ้าง หรือขาดคู่ซ้อมมือรับที่ตีลูก backspin เก่งๆ กลายเป็นจุดอ่อนของมือบุกที่เอาชนะได้แต่มือบุกเหมือนกันแต่กลับแพ้มือรับ
ครูจันทร์ ชูสัตยานนท์ สอนให้ฝึกตี backspin ทั้งลูกสั้นและลูกยาวไกลโต๊ะให้เป็นทุกคน โดยใช้ยางเรียบตามปกติที่ใช้กันนี่แหละ จะได้ช่วยเป็นคู่ซ้อมให้อีกฝ่ายฝึก topspin กลับมาเป็นด้วย โดยในช่วงเริ่มแรกที่เพิ่งฝึก topspin ให้ตีลูกในจังหวะ 2-3 ซึ่งเป็นจังหวะที่ลูกกระเด้งสูงสุดหรือใช้จังหวะตก ถ้าเป็น backspin ที่หมุนหนักมากๆก็ต้องหงายหน้าไม้มากขึ้น สอดไม้เข้าใต้ลูกมากขึ้นในจังหวะที่ลูกตกลงมาเยอะก่อน แล้วใช้วงสวิงเหวี่ยงขึ้นไปข้างบนมากขึ้นตามแต่ว่าลูกหมุนมาแบบ backspin มากน้อยเพียงใด ให้ออกแรงจากขาช่วยการเหวี่ยงแขนขึ้นเพื่อปั่นลูกให้หมุนแบบ topspin มากๆกลับไปแต่ไม่ต้องใช้ข้อมือช่วย ทั้งนี้ต้องฝึกอ่านหน้าไม้ท่าทางการตีของคู่ฝึก เสียงที่ไม้กระทบลูก และลักษณะที่ลูกลอยมาให้ดีว่าเขาส่งลูก backspin มาหนักหรือเบา
การแนะนำให้เริ่มฝึกจากการเลือกให้ไม้กระทบลูกปิงปองในจังหวะที่ลูกตกและหงายไม้ จะช่วยเพิ่มโอกาสตีโดนลูกได้มากขึ้นและเมื่อลูกตกลงบนไม้จะกลิ้งออกแบบ topspin ที่ล้างแรงหมุนของลูกที่หมุนมาแบบ backspin ไปได้ในตัว
สังเกตลูก backspin หนักได้จากหน้าไม้ของคู่ซ้อมว่าตอนกระทบลูกใช้หงายหน้าไม้มากเพื่อตีใต้ลูกคล้ายๆการช้อนลูกกลับมา มีเสียงที่ไม้กระทบลูกค่อยไม่ดังก้องๆ ลูกวิ่งมาช้า เป็นวิถีโค้งมากหน่อย พอตกกระทบโต๊ะจะกระเด้งสั้นๆและแรงน้อยลง และตกลงใกล้ๆกับจุดที่ลงโต๊ะ ลูกหมุนเร็วจนไม่สามารถมองเห็นตรายี่ห้อบนลูก
อย่างไรก็ตามการตีลูกจังหวะตกต้องเคลื่อนตัวไปรอลูกให้ดี เพราะลูกที่ backspin มาพอกระทบโต๊ะก็จะช้าลงและมีมุมกระเด้งขึ้นที่ชันขึ้นแล้วตกลงมาใกล้ๆกับจุดที่ลูกกระทบโต๊ะนั่นเอง นักปิงปองต้องก้าวเท้าเข้าหาลูกให้ไวขึ้น และปรับหน้าไม้ให้หงายไว้ ซึ่งการหงายหน้าไม้มีประโยชน์อีกอย่างในการเพิ่มโอกาสที่วงเหวี่ยงไม้จะกระทบลูกที่ตกลงได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหงายหน้าไม้น้อยไปหรือคว่ำหน้าไม้เพื่อตีลูกจังหวะตกลงต่ำมาก อาจตีไม่โดนลูกปิงปองก็ได้ ดังนั้นถ้าคิดจะตีลูกจังหวะตก ต้องเลือกจังหวะที่ลูกเริ่มตกเท่านั้นและยังสูงกว่าระดับเน็ต ไม่ควรรอให้ตกลงไปเยอะๆก่อนจนลูกปิงปองต่ำกว่าระดับเน็ต เว้นแต่ต้องการรอเพื่ออ่านลูกที่หมุนมาให้มั่นใจก่อนว่าหมุนมาอย่างไรหรือรอให้ลูกหมุนช้าลงบ้าง
เมื่อวิเคราะห์แรงที่เกี่ยวข้องในกรณีที่หงายหน้าไม้เพื่อตีลูกจังหวะตก แรงที่ลูกตกเข้าหาไม้(เส้นสีฟ้า)จะกระเด้งออกไปในทิศข้างหน้าและมีมุมเงยขึ้นได้ต่อเมื่อปรับมุมหน้าไม้ให้หงายมาก ถ้าหงายน้อยไปจะทำให้แรงนี้มีมุมชี้ลง ทำให้ต้องออกแรงจากหน้าไม้มากขึ้นเพื่อสู้กับแรงจากลูกที่ตกกับแรงที่ลูกหมุน หากต้องการปั่นลูกให้หมุนมากกลับไปก็ต้องเหวี่ยงไม้ขึ้นข้างบน(เส้นสีน้ำตาล)เพื่อเฉี่ยวขอบลูก แต่มุมของแรงผลลัพธ์จะไม่เลียดเน็ต ทำให้ลูก topspin ที่ได้ค่อนข้างโด่งและลอยช้า ดังนั้นการตีลูก topspin จังหวะที่ลูกตกจึงเหมาะสำหรับการตีลูก slow loop ซึ่งใช้แรงไปกับการหมุนมากกว่าต้องการตีลูกให้ลอยกลับไปแรงๆและเร็วๆ
หากต้องการตีให้เร็วและแรงเพื่อฉวยโอกาสเปิดเกมบุก ควรฝึกตีลูก topspin สวนกลับลูก backspin ในจังหวะที่ลูกกระเด้งขึ้นช่วงที่มีระยะความสูงกว่าเน็ตจนถึงจุดสูงสุดเพื่อตี loop drive หรือ loop kill
เมื่อตีลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งขึ้น ไม่จำเป็นต้องหงายหน้าไม้อีกต่อไปเพราะแรงที่ลูกกระเด้งจากโต๊ะเข้าหาไม้จะกระเด้งออกจากไม้(เส้นสีฟ้า)เป็นมุมเงยชี้ขึ้นให้เอง เมื่อบวกกับแรงจากการตีหน้าไม้จะสู้กับแรงจากการหมุน backspin ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการคว่ำหน้าไม้ช่วยทำให้ออกแรงปั่นลูกให้หมุนแบบ topspin ได้ในตัว แรงผลลัพธ์มีมุมเงยเพียงเล็กน้อยเป็นลูกที่เลียดเน็ตยากที่คู่ต่อสู้จะบุกกลับ ถ้าออกแรงตีผ่านลูกไปข้างหน้าจะกลายเป็น loop kill หรือออกแรงไปข้างบนจะกลายเป็น loop drive
- ถ้าตีแล้วลูกปิงปองพุ่งออกไม่ลงโต๊ะ ให้ปรับแนวการเหวี่ยงไม้ให้ไปข้างหน้ามากกว่าไปข้างบน
- ถ้าตีแล้วติดเน็ต ให้ปั่นลูกปิงปองให้หมุนมากขึ้น
ต้องออกแรงเหวี่ยงไม้เข้าหาลูก และสะบัดหน้าไม้เพื่อสร้างความเร็วของหน้าไม้ที่จะปั่นการหมุนให้กับลูกปิงปองไว้ก่อนที่จะกระทบกับหน้าไม้ เพื่อทำลายอิทธิพลของลูกปิงปองที่หมุนมา (ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกปิงปองวิ่งเข้าหาไม้)
ต้องฝึก topspin ส่งลูกออกไปได้ทั้งสั้นและยาว แรงบ้างค่อยบ้าง เลียดบ้างโด่งบ้าง ผสมกับการหยอด เพื่อหาทางทำลายจังหวะของคู่ต่อสู้ที่ตี backspin มา อย่ามุ่งแต่ใช้แรงและความหมุนเพื่อเอาชนะเท่านั้น ถ้าเอาแต่ใช้แรงสู้เพียงอย่างเดียวแต่ขาดความหลากหลาย ในไม่ช้าตัวเองก็จะหมดแรง
ก่อนที่จะสอนใครหรือเรียนกับใคร ต้องเริ่มจากมีศรัทธากันก่อน พอศรัทธาแล้วย่อมเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้สอน ถ้าอยู่ดีๆเพิ่งรู้จักกันแล้วผลีผลามเข้าไปสอนหรือแนะนำว่าวิธีตีปิงปองที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ย่อมยากจะสร้างความเชื่อถือ ดีไม่ดีจะถูกด่ากลับมาว่ายุ่งไม่เข้าเรื่อง หรือถูกคิดในแง่ลบว่าเป็นคนขี้โม้ ชอบสอนโดยไม่ดูตามม้าตาเรือ อยากจะอวดความรู้จะได้จ้างเขาให้เป็นโค้ชใช่ไหมล่ะ หรือถ้าสอนวิธีที่ต่างไปจากที่เขาเชื่อ จะถูกด่ากลับก็เป็นได้
คนเรามักเกิดความศรัทธาในนักปิงปองที่มีชื่อเสียง เป็นทีมชาติ หรือเป็นแชมป์ที่เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าเป็นใครจากมาไหนก็ไม่รู้ย่อมยากที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น แต่ใช่ว่าคนที่เป็นแชมป์จะสอนเป็นกันทุกคน หลายคนเล่นปิงปองเก่งแต่จัดลำดับการสอนจากง่ายไปยากไม่เป็น
โค้ชที่อยากอวดมักชอบพูดสอนออกมาดังๆในที่สาธารณะทำให้ได้ยินกันหมดทั้งห้องปิงปอง ต่างจากโค้ชที่ดีซึ่งจะพูดสอนด้วยเสียงเบาๆที่ได้ยินกันกับนักปิงปองที่เขาสอนเท่านั้น ยิ่งถ้าเข้าไปสอนคนที่ไม่รู้จักแล้วกลับกลายเป็นว่าเขาก็เป็นโค้ชเหมือนกัน และเขาก็กำลังเล่นอยู่กับนักปิงปองที่เรียนกับเขาอยู่ด้วย ทำแบบนี้เรียกว่า หักหน้ากันชัดๆ แม้จะทำด้วยความหวังดีก็ตาม
คุณพ่อคุณแม่ที่ฝากลูกเรียนปิงปองกับใคร ต้องเลือกโค้ชปิงปองให้ดีเพราะนิสัยลูกจะเลียนแบบตามโค้ชไปด้วย ตัวโค้ชต้องเป็นคนดีและมีระเบียบวินัยที่เป็นตัวอย่างที่ดี
โค้ชปิงปองที่ดีควรมีนิสัยถ่อมตัว ไม่ควรแนะนำตัวเองกับใครโดยเรียกชื่อตัวเองว่ามีคำว่าครูหรือโค้ชนำหน้า ถ้าไม่มีใครถามก็ไม่ควรโอ้อวดว่าแชมป์คนนั้นหรือนักปิงปองชื่อดังคนนี้เป็นศิษย์ของตน ถ้าเป็นโค้ชดีจริง ลูกศิษย์จะเป็นคนประกาศให้เอง
บางคนโชคดีได้เป็นครูเป็นโค้ชปิงปองของชมรมปิงปองในบริษัทที่มีชื่อเสียงหรือหน่วยงานราชการแล้วก็ลืมตัว มาสายบ้าง ไม่มาบ้าง ตั้งใจสอนต่อเมื่อเป็นการว่าจ้างสอนที่ได้เงินเท่านั้น พอมาถึงก็ทำตัวใหญ่คับห้อง เลิกกล่าวคำขอบคุณ มือไม้แข็งไม่รู้จักไหว้ทักทายคนอื่นก่อน มองข้ามทุกคนไปหมด มีพฤติกรรมทำตัวไม่ต่างกับมาเฟียประจำบ่อน คนแบบนี้เป็นได้แค่โค้ชปิงปองที่มีแต่ถูกประนามลับหลังและรอให้ถูกไล่ออก
นอกจากปิงปองเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนแล้ว ยังต้องอาศัยความสมบูรณ์ของร่างกายประกอบด้วย ถ้าอยากจะเก่งแต่แขนขามีปัญหากล้ามเนื้อร่างกายไม่อำนวยย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้นก่อนจะสอนใครควรดูให้ดีก่อนว่านักปิงปองมีร่างกายส่วนใดติดขัดหรือไม่ จะหน้าแตกเอาง่ายๆถ้าบังคับให้เหวี่ยงแขนอย่างนั้นถ่ายน้ำหนักอย่างนี้ทั้งๆที่ร่างกายของนักปิงปองทำไม่ได้
นักปิงปองบางคนฝึกตีท่าเดิมๆจนชิน ย่อมยากจะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีตีต่างไปจากเดิม โค้ชที่ฉลาดควรอธิบายให้เข้าใจด้วยเหตุผลว่าวิธีตีแบบใหม่นั้นดีกว่าอย่างไร ถ้ายังคงตีปิงปองต่อไปโดยใช้ท่าเดิมๆจะมีผลเสียหายต่อร่างกายกล้ามเนื้อในระยะยาวอย่างไรบ้าง เพราะโดยทั่วไปท่าตีปิงปองที่ดีย่อมไม่ทำให้ส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น ถ้าติดนิสัยห้อยข้อมือลงไว้ตลอด ในระยะยาวจะทำให้ข้อมือคดหรือเส้นเอ็นที่แขนยึดจนดึงรั้งแขนทั้งแขนให้เหยียดตรงไม่ได้ หรือบางคนที่ติดนิสัยไม่วางเท้าขวาไว้ข้างหลังเวลาตีโฟร์แฮนด์แต่ชอบว่าเท้าไว้เสมอกัน ให้ลองตบแรงๆดูว่าทำได้แรงหรือไม่หรือเสียสมดุลง่ายหรือไม่ การวางเท้าแบบไหนที่ช่วยให้ฟุตเวิร์คคล่องตัวกว่ากัน
กว่าจะเริ่มสอนใครควรใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมของนักปิงปองให้ดีก่อน โดยเฉพาะนิสัยใจคอว่าเป็นคนดีหรือไม่ ลองเล่นกันไปสักพักแล้วถ้าเขาเอ่ยปากถามขึ้นมาก่อนแล้วจึงช่วยให้คำแนะนำจะเหมาะกว่า
สำคัญที่สุด คนที่ควรสอนต้องเป็นคนที่อยากเรียนด้วย โค้ชไม่ต้องเป็นฝ่ายเข้าหา แต่คนที่อยากเรียนปิงปองต้องเข้าไปขอความรู้เอง นักปิงปองที่อยากเก่งต้องแสดงความตั้งใจให้เห็น มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนท่าตีของตน ไม่อวดเก่ง และไม่ลืมตัว ไม่ลืมตัวผยองตนว่าเล่นปิงปองเก่งกว่าใครๆอยู่แล้ว
ถ้าสอนไปแล้วดื้อ บอกกี่ครั้งก็แล้วยังไม่ยอมทำตาม ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ควรสอนต่อไปอีก
สงสัยกันบ้างไหมครับว่า ควรตีให้ไม้โดนลูกในจังหวะไหน ตอนลูกกระเด้งขึ้น ตอนลูกกระเด้งถึงจุดสูงสุด หรือตอนลูกวิ่งลง และด้วยเหตุผลอะไร
ได้ยินคำแนะนำมาหลายแบบใช่ไหม บ้างก็ว่าต้องตีลูกให้เร็วที่สุดเพื่อชิงความได้เปรียบ บ้างก็ว่าต้องตีลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งสูงสุดเพราะลูกจะสูงกว่าเน็ตมากที่สุด จะได้บุกในจังหวะนั้น ไม่ก็บอกว่าจังหวะสูงสุดตีง่ายที่สุดเพราะทิศทางการวิ่งของลูกจะขนานกับพื้น ทำให้ควบคุมหน้าไม้ได้ง่าย บางคนก็บอกว่าให้รอตีลูกในจังหวะที่ลูกลอยลงเพราะลูกจะคลายความหมุน ทำให้เรารับลูกได้ง่ายขึ้น หรือจะตีลูกตัดหนักๆได้
ไม่ว่าใครจะสอนอย่างไรก็ตาม การที่บอกให้ตีโดนลูกในจังหวะสูงสุดนั้นยากเหลือเกินที่จะทำได้จริง จะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีโอกาสมองวิถีของลูกจากด้านข้างที่เห็นเส้นทางของการกระเด้งได้ชัดเท่านั้น แต่โดยทั่วไปเราจะหันหน้ามองตรงกับทิศทางที่ลูกวิ่งมาซึ่งยากที่จะรู้ว่าถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง
ถ้ากำหนดให้ต้องตีลูกในจังหวะใดจังหวะหนึ่งตลอด เช่น ตีลูกในจังหวะสูงสุดเสมอจะเกิดอะไรขึ้น ... กับตัวของคุณ
สิ่งที่จะเป็นผลจากการตีลูกในจังหวะสูงสุดหรือจังหวะใดจังหวะหนึ่งตลอดเวลา ย่อมทำให้ต้องเคลื่อนตัวเข้าหาลูกบ้าง ถอยออกบ้างอยู่ตลอดเวลาใช่ไหม ซึ่งนี่แหละจะทำให้เสียสมดุลของร่างกายและเปิดช่องโหว่ให้คู่ต่อสู้ส่งลูกสั้นแล้วตามด้วยลูกยาวตีอัดเข้าตัว ถ้าคุณขยับตัวเข้าออกได้ไม่คล่องย่อมพลาดท่าได้ง่ายๆ
ญี่ปุ่นและจีนสอนให้ตีลูกปิงปองได้ในทุกจังหวะโดยไม่ต้องขยับตัวเข้าออก การขยับตัวมีแต่เคลื่อนตัวไปทางซ้ายหรือขวาเท่านั้น โดยนักปิงปองต้องหาตำแหน่งที่ไม้กระทบลูกในตำแหน่งเดิมซึ่งสัมพัทธ์กับตำแหน่งยืนของร่างกาย เช่น ท่าตี FH ก็ต้องตีให้โดนลูกให้ห่างจากเอวขวาไปข้างหน้าประมาณ 1 ศอก ทุกลูกที่ตีไปต้องโดนลูกในตำแหน่งนี้เสมอโดยไม่ต้องเคลื่อนตัวเข้าหรือออก
วงสวิงที่ใช้ก็ต้องฝึกใช้วงสวิงเดียวกันตลอด แต่ปรับมุมเอียงของหน้าไม้ตามแต่ว่าจะส่งลูกกลับไปแบบใด
สำหรับนักปิงปองมือใหม่ควรฝึกตีลูกในจังหวะใดจังหวะหนึ่งและฝึกเคลื่อนตัวเข้าออก จนกว่าจะสามารถควบคุมลูกได้ชำนาญแล้วจึงค่อยฝึกตีลูกจังหวะใดก็ได้ เวลาแข่งขันจะได้สามารถเลือกว่าจะตีช้าหรือตีเร็ว จะขยับตัวเข้าหรือออกคราวนี้ก็ขึ้นกับแต่ละสถานการณ์
แทนที่จะสอนให้ตีโดนลูกที่จังหวะสูงสุด ควรแนะนำคนที่จังหวะการเข้าหาลูกยังไม่ดีพอ ให้ตีโดนลูกในจังหวะที่เร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าเดิมจะเหมาะกว่า