คำว่า สมาธิ ในความหมายทั่วไป หมายถึง การมีใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่แสดงว่าต้องมีสมาธิอยู่แล้ว ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ต้องใช้สมาธิช่วยทำให้ตั้งใจทำสิ่งนั้น ถ้าสมาธิสั้นจะวอกแวกฟุ้งซ่านไปสนใจเรื่องอื่น ไม่สามารถมีสมาธิอยู่กับเรื่องเดิมได้นาน

ความสนใจ เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้มีความตั้งใจที่จะเข้าไปคลุกคลีกับเรื่องที่สนใจนั้น ถ้าสนใจแบบฉาบฉวยจะทำให้ความตั้งใจลดลง สมาธิยิ่งสั้นลงตาม

คำว่า สมาธิในการปฏิบัติธรรม หลายคนแปลว่า เป็นการฝึกทำใจให้นิ่ง แล้วเข้าใจผิดว่า นิ่งในที่นี้หมายถึงการนั่งนิ่งๆไม่ไหวติงแล้วทำใจให้นิ่งไม่คิดอะไรตามไปด้วย บ้างเข้าใจผิดว่า ทำใจให้นิ่ง หมายถึงการปล่อยใจให้สบายๆ เคลิ้มๆ แบบช่วงเผลอไม่ได้คิดไม่ได้รู้สึกอะไร พอมองตาจะเห็นตาเหม่อลอย ถ้ามีอาการแบบนี้ไม่ใช่สมาธิ

สมาธิในการปฏิบัติธรรม เป็นทั้งกริยาทำสมาธิ และเป็นทั้งนามเมื่อทำสมาธิต้องได้สมาธิ

สมาธิในแง่ของกริยา หมายถึง การตั้งใจให้มั่น ตั้งใจเหมือนกับการตั้งของอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ให้มั่นเหมือนกับทำให้มั่นคง ตั้งตรง ไม่ล้ม ไม่เอียง ไม่ส่ายไปส่ายมา

ขออธิบายเรื่องสมาธิเทียบกับการตั้งตะเกียบในขวดโหล

จิตของคนหนึ่งๆ ในขณะที่ยังไม่มีสมาธิ เหมือนกับตะเกียบนับร้อยอันที่เสียบไว้ในขวดโหล พอเขย่าขวดจะเห็นตะเกียบส่ายไปส่ายมา เกิดเสียงกระทบกันลั่นไม่รู้ว่าเป็นเสียงตะเกียบคู่ใดบ้างที่กระทบกัน

พอเริ่มเข้าสมาธิ เหมือนกับการทยอยหยิบตะเกียบออกจากขวดโหลออกไปเรื่อยๆทีละอันสองอัน พอตะเกียบมีจำนวนน้อยลง ถ้าเขย่าขวด ตะเกียบจะกระแทกกันจนอาจกระเด็นออกไปจากขวดจนหมดเหมือนกับการเขย่าท่อนไม้ไผ่ที่เสียบใบเซียมซีแรงไป

ถ้าไม่มีตะเกียบหลงเหลืออยู่ในขวดเลยก็ไม่ใช่สมาธิแล้ว มันกลายเป็นขวดว่างๆ พอนั่งดูขวดเปล่าๆไปสักพัก จิตจะคิดฝันล่องลอยไปเรื่องอื่น อย่างนี้ไม่ใช่สมาธิ

สมาธิจะเกิดต่อเนื่องกันได้ต่อเมื่อขณะที่หยิบตะเกียบออกไปทีละอัน พร้อมกันนั้นต้องหดปากขวดให้แคบตามลงมาด้วย ให้ปากขวดทำหน้าที่จับตะเกียบให้ตั้งตรงได้ทุกอัน ค่อยๆหยิบตะเกียบออกไปเรื่อยๆ อย่าเผลอหยิบออกไปจนหมดขวดล่ะ ขอให้เหลือตะเกียบไว้แค่ 1 อันในขวดปากแคบๆเท่าตัวตะเกียบนั้น นี่แหละสมาธิ

ถ้าตะเกียบมันเสียบกันไว้ในขวดจนแน่น กว่าจะหาวิธีแคะตะเกียบอันแรกๆออกไปไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหาทางดึงตะเกียบออกไปทีละอัน ห้ามดึงออกมารวดเดียวเกือบหมด ไม่ใช่ดึงตะเกียบออกไปเร็วบ้างช้าบ้าง แรงที่ใช้ดึงต้องพอดีพอดีด้วยนะ

พอเหลือตะเกียบอันสุดท้าย ต้องจับปากขวดไว้ไม่ให้แรงไปค่อยไป ถ้าจับปากขวดแรงไปจะได้แต่ตะเกียบอันสุดท้ายถูกจับบีบไว้แน่น แต่ถ้าจับค่อยไป เดี๋ยวตะเกียบอาจหลุดออกไปจากขวดโดยไม่รู้ตัว

พอรู้จักวิธีทำให้เหลือตะเกียบเพียงแค่ 1 อันในขวดแล้ว อยากดูลวดลายบนตัวตะเกียบ จะเห็นรายละเอียดของลวดลายอย่างชัดเจน จากนั้นจะเอาตะเกียบอันอื่นหรือสิ่งอื่นมาเปลี่ยนแทนได้ตามใจ

ขั้นตอนการฝึกสมาธิที่ยาก อยู่ที่วิธีหยิบตะเกียบออกไปทีละอันและวิธีรักษาตะเกียบอันสุดท้ายไว้ในขวด

พอฝึกได้แล้วต้องสามารถทำซ้ำได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

การฝึกสมาธิ อย่ายึดติดกับวิธีการว่าต้องใช้คำบริกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ การฝึกสมาธิเป็นการช่วยให้เรียนรู้วิธีการทำงานของจิต เมื่อฝึกฝนจนเข้าใจว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วจะหยิบยกอะไรขึ้นมาพิจารณา ย่อมเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน

ปล สาเหตุที่เกิดคำอธิบายเรื่องตะเกียบไปเทียบกับสมาธิ เพราะเล่าเรื่องสมาธินี้ให้กับเพื่อนขณะกำลังรับประทานอาหารเที่ยง เลยคว้าตะเกียบมายกเป็นตัวอย่าง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก

http://www.excelexperttraining.com/forums/content.php?r=350

หรือ Download หนังสือจับหลักสมาธิภาวนา

Copyright of www.TableTennisTip.com - www.facebook.com/TableTennisTip/

Go to top