ความปวดเมื่อยเป็นเรื่องปกติของนักปิงปอง ถ้าปวดเมื่อยแล้วคุ้มที่จะปวดจะเมื่อยก็ไม่น่าห่วงอะไร แต่ถ้าปวดเมื่อยไปโดยตีไปไม่ได้แรงแถมไม่แม่นยำเสียอีก คราวนี้ต้องมาหาสาเหตุกัน

  1. ขณะตีปิงปอง มีร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็งหรือเปล่า
  2. ใช้หัวมากไปหรือเปล่า
  3. ข้อศอกติดลำตัวมากไปหรือเปล่า
  4. ตีปิงปองแขนเดียวหรือเปล่า
  5. ท่าเตรียมพร้อมรับ เอาข้อมืออยู่ต่ำกว่าระดับข้อศอกหรือเปล่า
  6. เหวี่ยงไม้โดยใช้แต่แขนหรือข้อมือหรือเปล่า
  7. ยืดๆหดๆช้าไปหรือเปล่า
  8. ลำตัวขยับตามในจังหวะที่ไม้กระทบลูกหรือเปล่า
  9. พอลูกกระเด้งออกจากไม้ไปแล้ว ไม้ยังเหวี่ยงเร็วขึ้นหรือเปล่า

ประเด็นเรื่องการเกร็งนี่สำคัญมากเพราะมักเถียงหัวชนฝากันว่าไม่ได้เกร็งทั้งๆที่ตัวเองยืนตัวเกร็งให้เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา ถ้ายืนตัวตรง ไม่ย่อขา ไม่พับลำตัว นั่นแหละพอจะขยับตัวก็เกร็งแล้ว เพราะท่ายืนปกติของคนเหมาะกับการยืนตรงเท่านั้น พอจะเดินก็ต้องงอขาจริงไหม พอจะวิ่งก็ต้องงอเพิ่มอีกหลายส่วนใช่ไหม ถ้ารู้จักก้มตัวลงไปข้างหน้าโดยวางเท้าให้ห่างกันอย่างน้อยเท่ากับระยะช่วงบ่า พับลำตัวลงแล้วงอขาและงอแขนเข้ามาเล็กน้อย จะทำให้กล้ามเนื้อมีช่วงที่เปิดให้ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าการเหยียดตรงๆ เมื่อออกแรงก็มีกล้ามเนื้อพร้อมให้ใช้งาน และให้จับไม้แน่นขึ้นในจังหวะก่อนที่ลูกจะกระทบไม้เท่านั้นเพื่อควบคุมมุมหน้าไม้ให้คงที่

จริงอยู่ที่เราต้องใช้สายตาตามมองลูกที่ลอยเข้ามาจนกระทบไม้ แต่ใช่ว่าจะต้องส่ายหัวตามการมองลูกหรือหมุนศรีษะตามลำตัวไปด้วย เพราะหัวหรือศรีษะของคนเรามีน้ำหนักไม่น้อย ถ้าเอียงหรือส่ายหัวไปมาจะเป็นภาระในการปรับสมดุลของการถ่ายแรงมิใช่น้อย ควรควบคุมแนวศรีษะและลำคอให้คงที่ไว้แล้วส่ายหัวตามการมองลูกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนช่วงข้อศอกต้องไม่ปล่อยให้ห้อยชิดลำตัว ในท่าเตรียมพร้อมรับเมื่อพับลำตัวแล้วก้มไปข้างหน้าแล้วปล่อยให้ห้อยข้อศอกลงตามแนวดิ่ง จะพบว่ามีระยะห่างจากข้อศอกกับลำตัวเกิดขึ้นเอง เป็นช่วงที่เปิดให้ข้อศอกขยับได้อย่างอิสระจะไปทิศทางใดก็ได้ ยิ่งต้องการแรงมากเท่าใดยิ่งต้องอ้าแขนท่อนบนให้ข้อศอกห่างจากลำตัวมากขึ้นอยู่ในระยะประมาณ 15 - 30 ซม นอกจากนี้ถ้าวางข้อมือให้เหนือกว่าระดับข้อศอกไว้ในท่าเตรียมรับ แค่ปล่อยให้ไม้เหวี่ยงลงตามแรงดึงดูดของโลกย่อมเคลื่อนไม้ได้เร็วกว่าการห้อยไม้ไว้ต่ำกว่าข้อศอกแล้วต้องยกขึ้นเป็นไหนๆ

ทำนองเดียวกับแขนขวา แขนซ้ายซึ่งไม่ได้ใช้ตี ต้องไม่เอามาหนีบพับแขนซ้ายติดไว้กับลำตัวกลายเป็นนักปิงปองแขนเดียวที่เห็นเกลื่อนไปหมด แค่ดูแขนซ้ายซึ่งไม่ได้ใช้ตีก็ดูออกแล้วว่าเป็นศิษย์มีครูหรือเปล่า ควรฝึกใช้แขนซ้ายช่วยในการรักษาสมดุลในการเคลื่อนไหว ใช้สายตาร่วมกับมือซ้ายเพื่อติดตามกะระยะของลูกที่จะตี และใช้ข้อศอกซ้ายช่วยในการเริ่มต้นหมุนตัวออกแรงตีลูก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหลังด้านล่างอีกด้วยหากใช้แต่แรงจากแขนขวาอย่างเดียว

ถ้าเอาแต่พับแขนซ้ายไว้แนบหน้าอกก็เท่ากับว่าต้องออกแรงเกร็งยกน้ำหนักของแขนซ้ายไว้ตลอดเวลา ถ้าปล่อยแขนซ้ายลงตรงๆก็จะเกะกะเมื่อตีลูกบนโต๊ะ

คนที่ไม่รู้จักบิดลำตัวเพื่ออัดแรง ให้แก้โดยลองกำนิ้วชี้มือซ้ายไว้กับด้ามไม้ พอเหวี่ยงแขนขวาอัดแรงจะพบว่าแขนซ้ายพาลำตัวบิดตามให้เอง

นักปิงปองที่ตบได้แรงแต่พอกลับบ้านก็ปวดแขนไปหมด นั่นแสดงว่าเอาแต่ใช้แขนเหวี่ยงอย่างเดียวไม่ได้ใช้ลำตัวช่วย บางคนใช้ลำตัวช่วยถ่ายน้ำหนักเข้าหาลูกแล้วแต่พอจังหวะที่ไม้จะกระทบลูกกลับสะบัดข้อมือเข้าเสียอีกแทนที่จะเป็นการสะบัดข้อมือออก ทำให้เสียแรงที่อุตส่าห์ใช้แขนเหวี่ยงออกไปและที่แน่ๆคือไม่เคยตีลูกได้แม่นยำเสียที ดังนั้นก่อนที่คิดจะใช้ข้อมือต้องรู้จักเหวี่ยงแขนให้เป็นก่อน พอตีได้แม่นยำแล้วจึงฝึกใช้ข้อมือเสริมแรงเพื่อปั่นลูกให้หมุนได้มากขึ้นอีก(นิด)ในภายหลังไม่ว่าจะตีแบ็ดแฮนด์หรือโฟร์แฮนด์ก็ตาม

ความแม่นยำสูญเสียไปได้ง่ายที่สุดจากการใช้ข้อมือไม่เป็น พยายามใช้ข้อมือมากไปโดยหารู้ไม่ว่าเป็นดาบสองคม ชอบใช้ข้อมืองอไปงอมาเพื่อปรับมุมหน้าไม้ พอเคลื่อนตัวเข้าประจำตำแหน่งช้าไปทำให้ต้องเอื้อมหรือเบี่ยงตัวปรับวงสวิงให้เข้าหาลูกแทนที่จะปล่อยให้ลูกปิงปองวิ่งเข้าหาไม้

ความละเอียดของความแม่นยำ ขึ้นกับการใช้แขนควบคุมมุมหน้าไม้ปิงปองและควบคุมมุมลำตัวให้คงที่ต่างหาก (ต้องเคลื่อนตัวให้ไวไปประจำตำแหน่งที่จะตีลูกถัดไป ปล่อยให้ลูกปิงปองวิ่งเข้าหาวงสวิงที่เหวี่ยงออกไป ไม่ใช่ต้องปรับวงสวิงยืดหรือหดเข้าหาลูก)

แรงจากการสะบัดข้อมือมีความแรงและความเร็วเทียบไม่ได้เลยกับแรงที่เกิดจากการเหวี่ยงแขน ที่เห็นใช้ข้อมือกันนั้นเป็นเพียงการไม่เกร็งแล้วปล่อยให้ข้อมือเคลื่อนอย่างอิสระตามวงสวิง

นักปิงปองที่ชอบใช้ข้อมือจะแพ้อย่างหมดรูปเมื่อเจอคู่แข่งที่ตีได้แรงกว่าและเร็วกว่า เพราะแรงจากข้อมือสู้กับแรงของลูกปิงปองที่ถูกตีอัดเข้ามาแรงๆไม่ได้

พลังงานจะถูกเก็บไว้ในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมากขึ้นเมื่อยืดแขนมากขึ้น แต่พลังงานเหล่านี้จะสลายกลายเป็นความร้อนอย่างรวดเร็วมาก เพียง 1 วินาทีก็จะสูญเสียพลังงานไปแล้วกว่า 50% ดังนั้นเมื่อยืดแขนในจังหวะอัดแรงต้องเหวี่ยงแขนหดกล้ามเนื้อเข้ามาตีลูกให้ต่อเนื่องกันทันที ควรฝึกเหวี่ยงแขน(ยืดกล้ามเนื้อ)อัดแรงในจังหวะที่ลูกกระเด้งบนโต๊ะฝั่งตัวเองแล้วปล่อยแรงตีลูกออกไปต่อเนื่องกัน ไม่ใช่ว่าอ้าแขนไว้นานแล้วไม่ยอมเหวี่ยงแขนตีเสียที

บางคนถ่ายน้ำหนักเข้าหาลูกดีแล้ว ทั้งใช้ลำตัวช่วยและใช้แขนเหวี่ยงแรงเต็มที่แล้ว แต่ไม่ได้หยุดการเคลื่อนลำตัวให้ช่วงแขนสะบัดออกไป ไม่ได้หยุดแขนท่อนบนให้แขนท่อนล่างสะบัดออกไป ไม่ได้หยุดแขนท่อนล่างเพื่อสะบัดข้อมือออกไป ทั้งลำตัว แขน และข้อมือยังเคลื่อนไปในความเร็วเท่ากันย่อมส่งผลทำให้ขาดจังหวะส่งแรงถ่ายทอดไปยังหน้าไม้ ตีแรงๆแบบนี้เท่าใดย่อมสูญเสียแรงไปโดยใช่เหตุ

อย่าลืมว่าพอลูกลอยออกไปจากหน้าไม้ของเราแล้ว จะทำให้ลูกมันเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้แล้วใช่ไหม ดังนั้นอย่าสูญเสียแรงหลังจากที่ลูกลอยออกจากไม้ไปแล้วอีก

Copyright of www.TableTennisTip.com - www.facebook.com/TableTennisTip/

Go to top