พิมพ์

นักเทนนิสระดับโลกที่เสริฟลูกออกไปได้เร็วหลายร้อยไมล์ต่อชั่วโมง เขาใช้แค่นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับด้ามไม้เทนนิสเท่านั้น เพราะเมื่อปล่อยให้ไม้มีอิสระตามการเหวี่ยงของแขนจะเกิดโมเมนตัมที่เกิดจากน้ำหนักของตัวไม้เองเสริมแรงเข้าไปด้วย

นักกอล์ฟใช้น้ำหนักของหัวไม้กอล์ฟที่ปล่อยลงมาตามแรงดึงดูดของโลกเป็นแรงเสริม โดยใช้มือจับไม้กอล์ฟไว้แบบหลวมๆ ทำให้สามารถตีลูกกอล์ฟไปได้ไกลโดยไม่ต้องออกแรงจากแขนเลยก็ยังได้ แขนและมือทำหน้าที่เพียงควบคุมให้หัวไม้กอล์ฟกระทบลูกกอล์ฟถูกตำแหน่งและทิศทางเท่านั้น

แม้ไม้ปิงปองสั้นกว่าไม้เทนนิสหรือไม้กอล์ฟแต่ใช้หลักการเดียวกันนั่นเอง เวลาเหวี่ยงไม้ปิงปองจะต้องรู้สึกถึงน้ำหนักของตัวหน้าไม้และรู้สึกถึงแรงที่ลูกปิงปองกระทบยางและกระทบไม้

ถ้าจับไม้แน่นเกินไปจะไม่มีความรู้สึกถึงน้ำหนักของตัวหน้าไม้เกิดขึ้นเลย เวลาเหวี่ยงแขนรู้สึกแต่ว่าแขนถูกเหวี่ยงแต่ไม่รู้สึกว่ามีไม้ปิงปองจับไว้ด้วย อีกทั้งการเกร็งของมือจะทำให้เหวี่ยงแขนได้ช้ากว่าและไม่รู้สึกว่ามีอัตราเร่งของการเหวี่ยง

ในการจับไม้ปิงปอง ให้ใช้นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย กำด้ามไม้ปิงปองไว้เพียงเบาๆ แค่ช่วยให้ไม้ปิงปองไม่หลุดมือในช่วงเหวี่ยงแขน และเมื่อเหวี่ยงแขนออกไปตีลูกจะรู้สึกถึงน้ำหนักของหน้าไม้อยู่ที่นิ้ว 3 นิ้วนี้ ส่วนนิ้วชี้ใช้ควบคุมหน้าไม้ให้ได้มุมคงที่ตามต้องการ ส่วนนิ้วโป้งวางไว้ที่สันตรงคอของด้ามไม้

ช่วงที่เหวี่ยงไม้ให้จับไม้ไม่แน่นไปไม่หลวมเกินไปเพื่อเร่งความเร็วของแขนได้สะดวก พอไม้จะกระทบลูกให้กำไม้แน่นขึ้นเพื่อควบคุมหน้าไม้  

ช่วงเวลาที่ลูกสัมผัสกับยางและหน้าไม้ (dwell time) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการหมุนและทิศทางของการส่งลูก หากจับไม้แรงพอดีๆจะรับรู้ถึงจังหวะเวลานี้ จะได้ใช้การเด้งของยางและตัวหน้าไม้ได้เต็มที่อย่างที่มันถูกผลิตขึ้นมา

อย่างไรก็ตามควรแยกประเด็นให้ดีว่า หากต้องการตีลูกให้ได้แรงและพุ่งออกจากไม้ได้เร็วนั้น ไม่ได้ขึ้นกับว่าต้องจับไม้ให้แรงไว้ในขณะที่ลูกกระทบไม้

ช่วงว่างๆไม่ได้ลงสนาม ควรฝึกเดาะลูกปิงปองโดยตีลูกสูงบ้างต่ำบ้าง เพื่อฝึกการรับรู้ถึงการเด้งของยางและการเด้งของหน้าไม้ว่ามีแรงมากน้อยเพียงใด และควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อมือและนิ้วให้มีแรงมากขึ้นจะได้ไม่ต้องออกแรงกำหน้าไม้เท่าใดนัก

Copyright of www.TableTennisTip.com - www.facebook.com/TableTennisTip/

ฮิต: 18941